สนุกไม่ซ้ำใคร! เที่ยวระยอง ท่องประแสร์ มาแล้วไม่ผิดหวัง

 ไมตรี ลิมปิชาติ : เรื่องและภาพ

ปกติ เวลาใครก็ตาม รวมทั้งผมด้วย ถ้าได้ไปเที่ยวจังหวัดระยอง จะต้องนึกถึงทะเล และต่างก็อยากนั่งเรือจากบ้านเพไปนอนฟังเสียงคลื่นลมยังเกาะเสม็ด ที่มีทรายสีขาวประดับหาดสวย

ทว่า การไปเที่ยวระยองของผมครั้งล่าสุด ได้ไปชมและค้างคืนที่โฮมสเตย์ในชุมชนบ้านโบราณที่ปากน้ำประแส

ชุมชนแห่งนี้ถือเป็นหมู่บ้านเก่าแก่กว่าร้อยปี

เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำประแสที่ไหลลงอ่าวไทย

โฮมสเตย์ที่เราไปพักอยู่ติดกับทะเล ทำให้ได้เห็นน้ำทะเล เห็นเรือ ทั้งที่เป็นเรือโดยสาร เรือขนสินค้า และเรือหาปลา

ผู้นำเที่ยวเล่าให้เราฟังว่า

ในอดีตชุมชนปากน้ำประแสเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะคนระยองที่ต้องการเดินทางไปกรุงเทพฯ จะต้องพากันมาลงเรือที่นี่

ชุมชนปากน้ำประแสจึงมีทั้งตลาดขายสินค้า โรงจำนำ ไปรษณีย์ ร้านขายยา ร้านขายกาแฟ แม้โรงยาฝิ่นก็มี ทุกหลังเป็นเรือนไม้ที่มีถนนคอนกรีตแคบๆเป็นถนนหลัก

หลังจากมีถนนบางนา-ตราด ทำให้ชุมชนปากน้ำประแสเงียบไม่พลุกพล่านเหมือนเคย เพราะผู้คนจะพากันไปใช้รถยนต์แทนเรือ

แต่ก็เป็นความเงียบที่มีเสน่ห์ เพราะจะมีนักท่องเที่ยวที่มีรสนิยมชอบของเก่า  มีเรือนโบราณให้ชม จะพากันมาแวะเที่ยวที่นี่

บางคนถือโอกาสมานอนพักผ่อนครั้งละหลายวันเพื่อดื่มด่ำกับบ้านเรือนและตลาดที่มีรูปแบบสมัยเก่า และสดชื่นกับบรรยากาศริมน้ำที่เป็นมิตรกับปอด

อีกอย่างหนึ่งที่นักท่องเที่ยวชอบมากก็คือ อาหารการกิน โดยเฉพาะคนชอบกินอาหารทะเลจะไม่ผิดหวัง

“กุ้ง หอย ปู ปลา ที่นี่สดจริงๆ” ท่านนายกฯ ยืนยัน แต่ไม่ได้เอาปูมาให้เรากินเพื่อพิสูจน์ความอร่อย ก็ไม่ว่ากัน

อาหารทะเลของชุมชนปากน้ำประแสไม่ได้สดอย่างเดียว ยังราคาถูกอีกต่างหาก

ใกล้ๆ กับที่พัก บังเอิญมีคนหากุ้งกำลังยกยอ  จึงทำให้เราเห็นกุ้งที่ติดยอขึ้นมาครั้งละเป็นกิโลด้วย

กุ้งที่ยกยอได้เป็นกุ้งฝอยตัวเล็กๆ หรือที่เรียกว่ากุ้งเคยนั่นแหละ  เหมาะสำหรับนำไปทำกะปิชั้นดี มิน่าน้ำพริกกะปิที่นี่ ที่เราได้กินจึงอร่อยมาก

เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวพากันไปเที่ยวที่ชุมชนปากน้ำประแสมากขึ้นเรื่อยๆ  เทศบาลจึงให้การสนับสนุนจัดให้มีรถสามล้อเครื่องแบบพ่วงข้าง คันหนึ่งนั่งได้สี่คน เพื่อพานักท่องเที่ยวชมทุกอย่างที่อยากชม

เราถูกพาไปชมทั้งในตัวเมืองเพื่อถ่ายรูปกับบรรยากาศสมัยเก่าที่ชุมชนประแสเคยรุ่งเรือง

จากนั้นได้พาชมต้นตะเคียนใหญ่อายุกว่า 500 ปี   ก่อนไปนมัสการอนุสรณ์สถานกรมหลวงชุมพรฯ  แวะเดินไปตามสะพานเพื่อชมป่าชายเลน และชมอนุสาวรีย์เรือหลวงประแสที่มีประวัติอันยาวนาน

เมื่อพูดถึงอาหารการกิน ส่วนใหญ่ที่โฮมสเตย์จะบริการเฉพาะอาหารเช้าง่ายๆ ประเภทข้าวต้ม ขนมปัง ไข่ดาว เท่านั้น

ก็ถือว่าเป็นวิธีการที่ดี เพราะมื้ออื่นๆ นักท่องเที่ยวควรไปลิ้มรสอาหารทะเลจากร้านอาหาร ซึ่งมีให้เลือกหลายร้านมาก

กุ้ง ปู ปลา ที่นี่ไม่มีโอกาสได้แช่น้ำแข็ง  เพราะจับวันต่อวัน แม้ปูม้าบางตัว ยังมีชีวิตอยู่เลย เห็นแล้วสงสาร แต่พอมันมานอนตายอยู่บนจาน กลับน่ากินมากกว่านึกสงสาร

ก่อนกลับจากชุมชนปากน้ำประแส หลายคนไม่ลืมที่จะซื้อกุ้งแห้ง กะปิ ปลาหมึกแห้ง ปลากุเลาเค็มซึ่งเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของที่นี่

ผู้อ่านและไม่ได้อ่านท่านใดอยากไปพักผ่อนที่ชุมชนปากน้ำประแส  ผมขอแนะนำให้พักที่โฮมสเตย์ ซึ่งมีให้เลือกหลายแห่ง

การได้พักที่โฮมสเตย์ทำให้ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนเป็นของแถมด้วย จะบอกให้

ชาใบขลู่จากฝีมือชาวบ้าน

นักท่องเที่ยวเกือบทุกคนถ้าได้มาเที่ยวที่ชุมชนปากน้ำประแสแล้ว มักจะซื้อปลาแห้ง  กุ้งแห้ง และกะปิเป็นของฝาก

ล่าสุดก็มีเพิ่มขึ้นอีกสิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวจะต้องซื้อไปกินเองและเป็นของฝาก สิ่งนั้นคือ ชาใบขลู่

ที่จริงต้นขลู่ซึ่งเป็นวัชพืชได้ขึ้นงอกงามอยู่ที่ชายทะเลและใกล้ๆ กับป่าชายเลนที่ปากน้ำประแสมานานแล้ว

ชาวบ้านและชาวประมงอย่างดีก็แค่นำใบอ่อนของต้นขลู่มาลวกกินกับน้ำพริก  แต่แล้วอยู่ๆ ชาใบขลู่เกิดโด่งดังขึ้นมาเอง  จากประจวบคีรีขันธ์และใกล้เคียง ที่ได้นำใบขลู่มาทำเป็นชาใบขลู่

ที่ชาใบขลู่โด่งดังเพราะมีสรรพคุณหลายอย่าง เช่น ลดความดันโลหิต  แก้โรคเบาหวาน  แก้ท้องอืด  ขับลม  เส้นตึง  แต่ที่แน่ๆ ก็คือ หากกินทุเรียนแล้ว กินชาใบขลู่ไปด้วย ก็จะไม่ร้อนใน ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่ชอบกินทุเรียนเป็นอย่างยิ่ง

ทว่า โดยส่วนตัว ผมรู้จักชาใบขลู่มาจากเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งคือ คุณบรรเจิด  นามจิตร  ได้นำมาให้เพื่อนๆกิน โดยยืนยันว่าทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้น

เพื่อนๆ ทุกคนเชื่อ เพราะเดิมทีคุณบรรเจิดจะเดินไปไหนมาไหนต้องใช้ไม้เท้า

แต่พอได้กินชาใบขลู่เพียงไม่กี่เดือนสามารถเดินได้โดยไม่ต้องใช้ไม้เท้า

ถึงขนาดเพื่อนคนที่ว่านี้เรียกชาใบขลู่เสียใหม่ว่า  ชาทิ้งไม้เท้า

ถึงแม้ผมเชื่อว่า ชาใบขลู่ต้องดีแน่กับโรคกระดูก  แต่เนื่องจากร่างกายของผมไม่มีปัญหาเรื่องกระดูก ถึงแม้เพื่อนให้มากิน ผมก็กินบ้าง ไม่กินบ้าง

แต่พอได้ไปพบชาใบขลู่ที่ชุมชนปากน้ำประแสผมก็อดซื้อมากินไม่ได้ เพราะถ้ากินเป็นประจำเหมือนกับน้ำก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร  คิดว่าเป็นการกินชาจีนก็แล้วกัน  ราคาก็ไม่แพงด้วย

ที่ชุมชนปากน้ำประแส มีบ้านที่ผลิตชาใบขลู่ส่งขายไปทั่วประเทศ ไม่ได้ส่งเอง แต่จะมีคนมาซื้อไปขายต่อบ้าง สั่งซื้อมาทางไปรษณีย์บ้าง

การผลิตชาใบขลู่ของที่นี่ไม่ได้ทำคนเดียวแต่ตั้งเป็นกลุ่มรวมแล้วสามสิบกว่าคน โดยแบ่งงานกันทำ

มีรายได้ก็มาแบ่งกัน ซึ่งทำให้ทุกคนมีรายได้ โดยเฉพาะคนสูงอายุ นอกจากได้เพลิดเพลินกับการได้ทำงานแล้วยังได้เงินใช้อีก

หัวหน้ากลุ่มชื่อ ชะโลม  วงศ์ทิม  ปัจจุบันอายุ 71 ปี เดิมมีอาชีพประมง

หัวหน้ากลุ่มได้เล่าความเป็นมาและเป็นไปของการทำชาใบขลู่ให้ผมฟังว่า เริ่มทำชาใบขลู่มาหกปีแล้ว โดยมีผู้รู้มาสอนให้  กิจการก้าวหน้าดีพอสมควร

ขั้นตอนการผลิตชาใบขลู่จะเริ่มจากใช้คนในกลุ่มไปตัดต้นขลู่.ซึ่งขึ้นอยู่ทั่วไป แต่จะเลือกเฉพาะต้นที่ขึ้นอยู่ในป่าไกลจากถนน เพราะจะปลอดภัยจากสารพิษที่พ่นออกมาจากรถยนต์

นำกิ่งใบขลู่มาเด็ดเอาแค่ใบแล้วนำไปทำความสะอาดด้วยน้ำ

จากนั้นเอาใบขลู่ลงหม้อนึ่งเพื่อลดความกร่อย

แล้วนำใบขลู่ไปตากในตู้กระจกที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อไล่ความชื้น

เมื่อความชื้นถูกกำจัดจากแสงอาทิตย์หมดแล้ว ก็นำเข้าเตาอบจนแห้งอีกครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี

หัวหน้ากลุ่มบอกว่าการทำชาทุกชนิดไม่ว่าจะทำจากอะไร ถ้าทำไม่ดีจะมีเชื้อราซึ่งแทนที่กินแล้วจะได้ประโยชน์ก็จะมีโทษ

“ชาใบขลู่ของที่นี่จึงต้องทำอย่างดี  ไม่ให้เกิดเชื้อรา ถึงจะเก็บไว้นานเป็นปีก็ไม่เป็นไร”  แกยืนยัน

เมื่อผมถามว่าถ้าชาใบขลู่ขายดีขึ้นอีกจะมีปัญหาเกี่ยวกับวัตถุดิบหรือไม่

หัวหน้ากลุ่มบอกว่า ไม่มี เหตุที่ไม่มีก็เพราะต้นขลู่ขึ้นง่ายขยายพันธุ์เองไปตามธรรมชาติได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนการขายนั้นมีปัญหาในระยะแรก ปัจจุบันจากปากต่อปากทำให้เป็นที่รู้จัก เพราะชาใบขลู่กินแล้วมีประโยชน์จริงๆ โดยผู้กินรับรองผล จึงสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ

ไปกินผักกระชับที่ทะเลน้อย

แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของระยองก็คือชุมชนทะเลน้อย อำเภอแกลง

ที่น่าสนใจก็เพราะได้ไปเห็นการประกอบอาชีพของคนในชุมชน ที่มีชื่อเสียงหลายอย่างมาก เช่น ปลูกกล้วยน้ำว้า 3 น้ำ  ที่มีรสชาติหวานมันยังกับไม่ใช่กล้วย

นอกจากนี้ก็มีการทำปลาเค็ม  กะปิ  น้ำปลา  และผลิตภัณฑ์งานฝีมือพวกจักสาน

แต่ที่น่าสนใจกว่าใครเพื่อนก็เห็นจะเป็นการปลูกผักกระชับ ซึ่งมีแห่งเดียวในประเทศไทย

แค่ชื่อของผักว่ากระชับก็น่าสนใจแล้ว

หลังจากชมและดูงานอย่างอื่นๆ ครบถ้วน  เจ้าภาพได้เลี้ยงอาหารกลางวัน โดยมีผักกระชับเป็นหลัก เช่น  แกงส้มผักกระชับ  ยำผักกระชับ  ผักกระชับผัดน้ำมันหอย และผักกระชับสดจิ้มน้ำพริกกะปิ

ทุกคนกินผักกระชับกันอย่างเอร็ดอร่อยโดยเฉพาะผมชอบเป็นพิเศษเพราะรสชาติดีเหลือเกิน

ลักษณะของผักกระชับ ถ้าดูเผินๆ จะเหมือนกับผักที่เพาะจากเมล็ดทานตะวัน

รสชาติและคุณค่าของผักทั้งสองชนิดนี้อาจใกล้เคียงกัน  เช่น ลดความดัน  ลดไขมันในเส้นเลือด แต่สำหรับผักกระชับที่ทำให้ผู้เพาะผักกระชับขายได้ดีและไวก็เพราะมีคุณสมบัติเหมือนชื่อคือ

ถ้าผู้หญิงกินแล้วทำให้ช่องคลอดกระชับ

เมื่อผมถามว่า ถ้าผู้ชายกินผักกระชับล่ะจะมีอะไรเกิดขึ้น

คนที่พาไปกินผักกระชับอมยิ้มก่อนตอบว่า

“ถ้าผู้ชายกินก็จะกระชับเหมือนกันคือกระชับมิตร”

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า เพียงแค่ให้นักท่องเที่ยวพากันมากินผักกระชับที่ร้าน หรือซื้อผักกระชับไปฝากญาติมิตรก็ถือว่าเป็นการกระชับมิตรได้แล้ว

ผักกระชับมีหน้าตาอย่างไร ขอผู้อ่านและไม่ได้อ่านดูจากภาพประกอบก็แล้วกัน

วันนั้นผมอร่อยลิ้นอย่างเดียวไม่พอขอตามไปที่บ้านของคนเพาะผักกระชับขายด้วย  จึงได้รู้ได้เห็นของจริงพร้อมได้รับคำอธิบายจากนายประสาน  ถวิล  อายุ 51 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการคร่าวๆ ว่า

การปลูกผักกระชับจะต้องเริ่มต้นด้วยการปลูกต้นเพื่อเอาผลหรือเอาเมล็ดของมันก่อน  ก่อนนำเมล็ดมาเพาะเป็นผัก

โดยปลูกต้นกระชับลงในนาข้าว หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ตั้งแต่หยอดเมล็ด จนเก็บผล ต้องใช้เวลาประมาณ 4 เดือน

ได้เมล็ดกระชับแล้วต้องเอามาแช่น้ำ นานถึง 3 เดือนจนเปลือกเมล็ดแตกฉีก

จากนั้นนำเมล็ดขึ้นมาเพาะโดยฝังกลบลงในดินที่เตรียมไว้

เป็นดินร่วน  ฝังเสร็จให้ใช้ทรายโรยอีกครั้ง

สถานที่เพาะควรอยู่ในที่ร่มมีหลังคา  เพราะถ้าอยู่กลางแจ้งอาจมีนกมากินได้  อีกทั้งถ้าถูกฝนใบอ่อนที่งอกออกมาจะเน่าเสียก่อน

รดน้ำให้เมล็ดเพียงครั้งเดียวในวันเพาะ   จากนั้นมันก็เริ่มงอก

ใช้เวลาเพียง 7 วันงอกขึ้นมาเป็นต้น ผลิใบ แล้วค่อยๆงอกงามขึ้น จนมีต้นสูงประมาณ 6 นิ้วก็เก็บมากินมาจำหน่ายได้แล้ว

เจ้าของโรงเพาะผักกระชับบอกว่าที่หมู่บ้านทะเลน้อยมีคนทำอาชีพนี้ 13 ครัวเรือน

ทำเท่าไรก็ขายได้หมด เพราะมีทั้งพ่อค้าและแม่ค้ามารับซื้อไปขายต่อ  แต่ถ้าต้องการขายให้ได้ราคาดีก็จะนำผักกระชับไปขายที่ตลาดในอำเภอแกลงเอง

ปกติราคาขายกิโลกรัมละ 100 บาท แต่บางเดือนถ้าผักกระชับออกน้อย ก็ขึ้นไปถึง 200 บาทก็มี

เมื่อเราอยากจะรู้ถึงถึงความเป็นมาของผักกระชับ  และทำไมเจ้าของโรงเพาะรายนี้ ซึ่งหันมามีอาชีพเพาะผักกระชับขาย

นายประสานเจ้าของโรงเพาะผักกระชับ จึงเล่าให้ฟังค่อนข้างยาว  แต่ผมขอนำมาสรุปสั้นๆ ได้ว่า

ผักกระชับมีขึ้นที่บ้านทะเลน้อยนานแล้ว  ต้นกระชับจะงอกตามธรรมชาติอยู่ตามทุ่งนาและที่ดินที่ไม่มีน้ำขัง

ชาวนาจะถอนต้นกระชับซึ่งมีเมล็ดเต็มต้นทิ้งไว้ตามคูคลอง

เมล็ดบางส่วนที่หลุดจากขั้วและฝังในดินก็จะงอกขึ้น

มีคนนำมากินปรากฏว่าอร่อยโดยเฉพาะใช้จิ้มน้ำพริกกะปิ

จากนั้นทำให้ชาวนาบางคนแทนที่จะถอนต้นกระชับทิ้งลงคูคลองทั้งต้นทั้งเมล็ดเหมือนเคย  ก็เอาแต่เมล็ดมาเพาะโดยฝังดินไว้ที่บ้าน  แล้วก็ได้พัฒนาการเพาะมาจนถึงวันนี้

เนื่องจากผักกระชับมีรสชาติอร่อย  จึงทำให้มีคนเพาะผักกระชับมากขึ้นเรื่อยๆ  จากเพาะกินก็เพาะขาย

มีคนถิ่นอื่น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวพากันสนใจผักกระชับ  วัดจากเวลามาที่บ้านทะเลน้อยจะต้องถามหาซื้อฝักกระชับ

สำหรับนายประสาน ถวิล นั้น  เดิมมีอาชีพหลักทำนา โดยปลูกผักกระชับเป็นอาชีพเสริม

ทว่าในปัจจุบันการปลูกผักกระชับกลายเป็นอาชีพหลัก  ทำนาเป็นอาชีพเสริม  สลับกัน

ผู้ใดอยากกินผักกระชับให้ไปที่ชุมชนทะเลน้อย รับรองว่าไม่ผิดหวัง

มาแล้วอย่าลืมแวะชมโบสถ์เก่าแก่อายุกว่า 300 ปี ที่วัดราชบัลลังก์ประดิษฐาวราราม หรือชาวบ้านท้องถิ่นเรียกว่า วัดทะเลน้อยตามชื่อหมู่บ้าน และสักการะศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ทุ่งโปรงทอง

ผู้ใดไปเที่ยวที่ชุมชนปากน้ำประแสแล้ว แทบทุกคนจะต้องไปที่ทุ่งโปรงทอง

ทุ่งโปรงทองตั้งอยู่บริเวณริมปากน้ำประแส เป็นป่าชายเลนที่ไม่เหมือนกับที่อื่นๆ

ที่อื่นๆส่วนใหญ่ป่าชายเลนมักจะเป็นต้นโกงกางเป็นหลัก แต่ที่นี่เป็นต้นไม้ที่มีชื่อว่าโปรงทอง

ความสวยของต้นโปรงทองอยู่ตรงที่มีใบสีเขียวสดทั้งปี ทว่าเวลาถูกแสงอาทิตย์ก็จะกลายเป็นสีเหลืองทอง จึงถูกเรียกว่าโปรงทอง และถ้าต้นโปรงทองอยู่รวมกันมากๆก็กลายเป็นทุ่ง เรียกรวมๆก็ได้ว่า ทุ่งโปรงทอง

ไม่แน่ใจว่าเนื้อที่ทุ่งโปรงทองมีกี่ไร่  แต่คงเป็นร้อยๆ ไร่ เพราะมีสะพานไม้ที่สร้างไว้สำหรับให้นักท่องเที่ยวเดินชมทุ่งโปรงทองเป็นระยะทางเกือบ 3 กิโลเมตร

หากผู้ใดต้องการไปชมทุ่งโปรงทอง ขอแนะนำให้ไปในเวลาเย็นแดดร่มลมตก เพราะจะได้เห็นทุ่งโปรงทองมีสีเหลืองทองสวยงาม

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ได้ไปเดินชมทุ่งโปรงทองเฉยๆ  แต่จะถ่ายรูปกันสนุกมือ เพราะมีมุมให้ได้ถ่ายรูปมากเหลือเกิน

ยามเย็นนอกจากจะได้ภาพที่สวยงามแล้ว อากาศก็ไม่ร้อนอีกต่างหาก

ด้านหนึ่งของทุ่งโปรงทองจะเป็นบริเวณที่เป็นอนุสรณ์เรือรบหลวงประแส

ฉะนั้นหลังจากชมความงามของธรรมชาติคือทุ่งโปรงทองแล้ว ก็ควรแวะไปชมเรือรบหลวงประแสด้วยก็ไม่ถือว่าผิดกติกาแต่ประการใด

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานระยอง โทร. 0 3865 5240-1