เที่ยวตราดมุมใหม่ สนุกวิถีชุมชน ยลเสน่ห์เมืองริมเลสุดแดนบูรพา

เรื่องและภาพโดย : ไมตรี ลิมปิชาติ 

ตราดในสายตาของนักเดินทาง อาจเห็นภาพของหาดสวย ทะเลใส ทั้งเกาะช้าง เกาะหมาก เกาะกูด กันเป็นหมุดหมายแรก

แต่ “ตราด” ในสายตาของผมจากการเดินทางในครั้งนี้ คือ ภาพความสวยงามของวิถีชุมชน อาหารพื้นบ้าน และรอยยิ้มหวานๆ นับร้อยนับพันจากผู้คนที่ผมได้เดินทางเข้าไปสัมผัส

ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว เรียนรู้วิถีชุมชน ผู้คน สายน้ำ และทะเล  

มาถึงตราด เราเดินทางไปคลองบ้านน้ำเชี่ยว ที่ไหลลงทะเลใกล้ๆ กับแหลมงอบ  มองไกลออกไปจะเห็นเกาะช้างชัดเจน

คลองน้ำเชี่ยวอุดมสมบูรณ์ จึงมีผู้คนมาอยู่อาศัยริมคลองค่อนข้างหนาแน่น จนกลายเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อว่าบ้านน้ำเชี่ยว

คนหมู่บ้านน้ำเชี่ยวนับถือศาสนาต่างกัน มีทั้งพุทธและอิสลาม แต่ก็อยู่กันได้อย่างมีความสุข

เสน่ห์ของหมู่บ้านหรือชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวอยู่ตรงที่วิถีชีวิตของชาวบ้านที่ทำมาหากินกับสายน้ำและทะเล

เดิมที ถ้าผู้ใดจะไปยังชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จะต้องนั่งเรือ

ทว่า ในปัจจุบันจอดรถอยู่ริมถนนใหญ่ แล้วเดินเข้าซอยไปยังสะพานคอนกรีตที่ทอดยาวขนานไปกับฝั่งคลองได้สะดวก

และถ้าต้องการจะข้ามไปอีกฝั่งก็จะมีสะพานโค้งสูงให้คนเดินข้ามและเรือได้ลอด สะพานสูงแห่งนี้ปัจจุบันกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว

เราไปถึงชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวในเวลาเที่ยง จึงได้ถือโอกาสกินอาหารเที่ยงด้วยเลย

เป็นอาหารที่ทำจากปลาเป็นส่วนใหญ่  ทั้งนี้ก็เพราะเรือหาปลาที่นี่จับปลาได้มากกว่าสัตว์น้ำชนิดอื่น

หลังอาหาร เราได้นั่งเรือยนต์มีหลังคากันแดดไปตามคลองบ้านน้ำเชี่ยว แต่น้ำไม่ได้เชี่ยวเหมือนชื่อ

ลมทะเลพัดเข้ามาในเรือสัมผัสกาย ทำให้สบายตัว

ข้างทางที่เรือผ่านเป็นป่าชายเลนที่หนาแน่นไปด้วยต้นโกงกาง

คนเรือบอกว่า นั่งเรือในเวลาหลังเที่ยงอย่างนี้แดดร้อน จึงไม่ได้เห็นลิงแสม เพราะพวกมันจะหลบร้อนไปอยู่ในที่ร่มกันหมด

ทำให้เราบางคนผิดหวังที่ไม่ได้เห็นลิง และเชื่อว่าลิงมันก็คงผิดหวังเหมือนกันที่ไม่ได้เห็นคน

ที่ปากคลองหรือปากน้ำ เราได้พบชาวบ้านหลายคนกำลังดำน้ำหาหอย

“ดำหาหอยปากเป็ด”  คนเรือบอก

เป็นหอยที่มีรูปร่างเหมือนปากเป็ด นำมากินได้ทั้งแบบสดๆ หรือปรุงอาหารอะไรก็ได้เหมือนหอยชนิดอื่นๆ

ขากลับ พอขึ้นจากเรือมาได้สักพัก เราได้พบกับชายคนหนึ่ง ในมือหิ้วปูทะเลมาสองตัว

ตัวใหญ่ตัวหนึ่งและตัวเล็กอีกตัว

“วันนี้จับปูได้น้อย”  คนจับปูบอก พร้อมเสนอขาย สองตัวสามร้อยบาท

นักเลงกินปูบอกเราว่า เป็นราคาที่ไม่แพงเลย เพราะรวมสองตัวน่าจะเกินหนึ่งกิโลกรัม

เราบางคนถามถึงวิธีจับปู ได้รับคำอธิบายว่า  ใช้วิธีเดินหารูปูตามป่าชายเลน พอเห็นรูปู ก็ใช้เหล็กยาวๆ ปลายตะขอเกี่ยวปูขึ้นมา

เราได้ไปนั่งพักด้วยการจิบกาแฟกับตังเม ซึ่งเป็นขนมที่ขึ้นชื่อของบ้านน้ำเชี่ยว ก่อนไปชมการทำงอบ

งอบของเมืองอื่นมักจะทำด้วยใบลาน แต่สำหรับที่นี่ทำด้วยใบจาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่าย

งอบบ้านน้ำเชี่ยวออกแบบได้สวย มีหลายรูปแบบ ล้วนแต่น่าใช้ใส่กันแดดกันฝน หรือใส่เพื่อความสวยงามก็ได้

ขณะยืนดูคนทำงอบ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อไปหลายคน

คนขายบอกว่า ทำงอบขายไม่ค่อยทัน เพราะจะมีคนมาซื้อไปขายต่อด้วย

ขณะเราอยู่ที่ชุมชนแห่งนี้ พบว่าชาวบ้านทุกคนได้ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส

กำลังจะเดินออกมาอยู่แล้ว บังเอิญได้พบกับชายคราวลุงคนหนึ่งนำปลาดุกทะเลมาขายให้ร้านอาหาร

เห็นปลาดุกที่เขาใส่ตะกร้าหวายมาขายแล้ว ทำให้อยากกินผัดฉ่าปลาดุกขึ้นมาโดยพลัน

ปลาดุกทะเลผัดฉ่ากินกับข้าวสวยและไข่เจียวร้อนๆ อร่อยอย่าบอกใคร

แค่คิดก็น้ำลายไหลแล้ว

แต่อาหารมื้อเย็นวันนั้น ขณะพักอยู่ที่โฮมสเตย์ เราได้กินอาหารเมนูจากปลาหลากหลายชนิด และหอยปากเป็ดผัดฉ่า ปิดท้ายด้วยข้าวเกรียบยาน่า อาหารพื้นถิ่นของบ้านน้ำเชี่ยว

ขณะนั่งคุยกัน เราได้รับทราบมาว่าที่บ้านน้ำเชี่ยว มีเรือให้นักท่องเที่ยวเช่าออกไปตกปลาใกล้กับเกาะกูดด้วย ซึ่งเป็นบริเวณที่มีปลาชุกชุม จึงทำให้ผมอดอาฆาตไว้ในใจไม่ได้ว่า ถ้ามีโอกาสมาที่ชุมชนแห่งนี้อีกจะต้องเช่าเรือออกไปตกปลาให้ได้สักครั้งในชีวิต

การตกปลานอกจากสนุกแล้ว ยังอร่อยด้วย เพราะพอตกปลาได้ นำปลามาทำอาหารกินได้ทันที ปลาเสียชีวิตใหม่ๆทำอะไรก็อร่อยทั้งนั้นจะบอกให้

ชุมชนบ้านแหลมมะขาม เรียนรู้ประว้ติศาสตร์ กินหอยปากเห็ด

จากบ้านน้ำเชี่ยว เรามาเที่ยวชุมชนบ้านแหลมมะขาม กันต่อ

ผัดเผ็ดหอยปากเป็ดกินกับข้าวสวยร้อนๆ อร่อยอย่าบอกใคร

ที่อร่อยอาจเป็นเพราะรสชาติของหอยมากกว่าเหตุผลอื่น เพราะเพิ่งจับหอยขึ้นมาจากทะเลสดๆ

ทะเลรอบๆเกาะช้างมีหอยปากเป็ดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ตอนที่ผมไปเที่ยวที่ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวก็ได้กินหอยชนิดนี้

หอยปากเป็ดกลายเป็นอาหารหลักของชาวประมง และอาหารแปลกลิ้นของนักท่องเที่ยว

เจ้าของเรือเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวกระโดดลงทะเลเพื่อจับหอยชนิดนี้ด้วยมือของตนเองได้ จึงเพิ่มรสชาติในการนำมาทำอาหารกิน

หมู่บ้านแหลมมะขาม พื้นที่มีลักษณะเป็นแหลมยื่นไปในทะเล เป็นหมู่บ้านเก่าแก่นานกว่าร้อยปี

ชาวบ้านมีทั้งชาวพุทธและอิสลาม แต่อยู่กันอย่างมีความสุข

ผู้ใดมาเที่ยวที่นี่ ก็เช่นเดียวกับไปเที่ยวที่บ้านสลักคอก คือจะต้องนั่งเรือท่องลำน้ำออกไปยังทะเล เพื่อชื่นชมป่าชายเลนที่อัดแน่นไปด้วยไม้โกงกาง

แต่เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้เป็นแหลม จึงทำให้มองดูทิวทัศน์ทะเลได้สวยงาม ทั้งยามเช้าที่ดวงอาทิตย์โผล่หน้าขึ้นมาดูโลก และยามเย็นที่ดวงอาทิตย์กำลังจมน้ำ แสงจากดวงอาทิตย์กระทบเปลวคลื่นทำให้มีสีสวยเหมือนภาพวาดจากยอดศิลปินเลยทีเดียว

ผู้นำเที่ยวยังได้พาเราไปที่บ้านอาจารย์สมโภชน์ วาสุกรี เพื่อเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพระปรีชาสามารถและพระราโชบายในการรักษาประเทศไทยไว้ได้

แล้วยังได้ไปชมโต๊ะวลีย์ ศาสนสถานที่สำคัญของชาวมุสลิมที่เข้าไปอยู่ในวัดแหลมมะขามซึ่งเป็นศาสนาพุทธ นับเป็นเรื่องแปลกเพราะมีแห่งเดียวในประเทศไทย

ที่นี่ยังมีสวนทุเรียนให้เราชมด้วย ใกล้กันก็มีตากกล้วย เห็นแล้วชวนกินมากๆ แต่ไม่แห้งเต็มที่เลยไม่สามารถซื้อกลับบ้านได้

ชุมชนบ้านสลักคอก เกาะช้าง 

จากฝั่ง เราปักหมุดไปเที่ยวเกาะช้าง

นักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวเกาะช้าง มักจะไปที่ชุมชนบ้านสลักคอก

ชุมชนบ้านสลักคอกเป็นหมู่บ้านของชาวประมงเล็กๆที่ตั้งอยู่ริมคลองกลางป่าชายเลนที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่ที่สุดของเกาะช้าง

คลองที่ว่านี้เป็นคลองแคบๆ แต่มีความสำคัญตรงที่เป็นทางให้เรือประมงจากหมู่บ้านได้ออกเรือไปยังทะเลเพื่อหาปลาได้สะดวก

ทว่า มาถึงวันนี้ คลองที่ว่านี้กลายมาเป็นเส้นทางล่องเรือมาดเพื่อพานักท่องเที่ยวชมป่าชายเลนจากหมู่บ้านไปจนถึงอ่าวปากทางออกทะเลด้วยอีกอย่างหนึ่ง

มีนักท่องเที่ยวพากันมาใช้บริการกันมาก รวมทั้งผมด้วยคนหนึ่ง

เรือมาดที่พานักท่องเที่ยวล่องเรือ นั่งได้ลำละสี่คน หรือต้องการนั่งแค่สองคนสำหรับคนที่เป็นคู่รักก็ไม่ถือว่าผิดกติกาแต่ประการใด

ขณะนั่งเรือไม่ต้องกลัวร้อนเพราะมีร่ม อีกทั้งยังมีคนแจวเรือให้ด้วย

ระหว่างทางจะได้เห็นชาวประมงวางอวน เก็บหอย และป่าชายเลนที่ยังสมบูรณ์

“ป่าชายเลนผืนนี้แหละที่ทำให้หมู่บ้านสลักคอกยังดูดีและมีอาชีพมาได้อย่างมีความสุข เพราะป่าชายเลนเป็นกำแพงบังคลื่นลม แล้วยังเป็นที่อาศัยของลูกสัตว์น้ำ ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา” คนแจวเรือพูดเสียงดังสู้กับแรงลมเพื่อให้เราได้ยิน

ลืมบอกไปว่า บนเรือมีโต๊ะเล็กๆให้วางอาหารกินได้ด้วย

ถ้านั่งเรือยามเย็น นักท่องเที่ยวนิยมซื้ออาหารมานั่งกินบนเรือ หรือไม่ซื้อเอง ให้เจ้าของเรือจัดให้ก็ได้

เรือมาดที่มารับนักท่องเที่ยวจัดบริหารรายได้เป็นรูปสหกรณ์ รายได้แบ่งกันอย่างยุติธรรม จึงทำให้คนในหมู่บ้านอยู่กันอย่างสงบเรียบร้อย

นอกจากเรือมาดแล้ว หมู่บ้านแห่งนี้ยังมีเรือคายัคให้เช่าด้วย แต่ต้องพายเรือเอง

ใช้เวลาประมาณชั่วโมงกว่าๆ ก็ได้กลับขึ้นฝั่งตรงบริเวณที่เป็นหมู่บ้านชาวประมง

เรามีโอกาสได้ไปที่ธนาคารปูม้าด้วย โดยชาวบ้านได้นำปูที่กำลังมีไข่มาเลี้ยง รอจนมันสลัดไข่ แล้วนำไข่จำนวนเป็นแสนๆฟองไปปล่อยลงทะเล ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้มีปูให้ได้จับกินจับขายได้ต่อไปอย่างยั่งยืน

จุดเด่นของชุมชนแห่งนี้อีกอย่างหนึ่งคือ มีทั้งหมู่บ้าน สายน้ำ กลุ่มเรือประมง และป่าชายเลนมาอยู่รวมกันใกล้ๆ ทำให้เป็นภาพชีวิตกับธรรมชาติที่งดงาม ทุกคนจะต้องถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก

หาดบานชื่น ไปพักผ่อนฟังเสียงธรรมชาติ 

กลับจากเกาะช้าง เราก็พักเที่ยวอยู่ที่ฝั่งต่ออีกวัน

ตอนมาตราดหะแรก เราตั้งใจจะนั่งรถตรงไปให้ถึงอำเภอคลองใหญ่ด้วย เพื่อไปเที่ยวที่ตลาดค้าส่งชายแดนบ้านหาดเล็ก ชายแดนไทย-กัมพูชา

แต่บังเอิญว่า ขณะนั่งรถระหว่างทาง ผมบอกกับตัวเองว่า ควรแวะหาอาหารกินกลางวันกันก่อนน่าจะดี

บางคนในรถ แนะนำให้ไปกินอาหารกลางวันที่หาดบานชื่น ที่เราส่วนใหญ่ไม่รู้จัก รวมทั้งตัวผมเองด้วย

ก่อนถึงอำเภอคลองใหญ่จากถนนหลัก เลี้ยวขวาไปตามถนนแยกไปยังหาดบานชื่นใช้เวลาไม่นานนาทีก็ถึงหาดบานชื่น ที่มีป้ายเขียนยืนยันว่า

“เป็นหาดทรายสวยที่สุดของภาคตะวันออก”

หาดบานชื่นต้อนรับเราด้วยเสียงคลื่น ทำให้ร่างกายสบาย เมื่อได้สัมผัสลมทะเล เราสั่งอาหารกลางวันจากร้านที่ชายหาด เป็นอาหารอีสานประเภทส้มตำ ไก่ย่างเป็นหลัก รสชาติอร่อยใช้ได้ ที่สำคัญราคาไม่แพง

ที่จริงร้านอาหารทะเลก็มีแต่เราอยากเก็บท้องไว้เป็นมื้อเย็น

ได้พูดคุยกับคนขายส้มตำ จึงได้รู้ว่า เดิมทีหาดแห่งนี้มีชื่อว่า หาดมะโร(แปลว่าอะไรไม่รู้)

ปัจจุบันมีรีสอร์ทให้เช่าพัก และร้านอาหารหลายแห่งและบางคนที่ไม่อยากนั่งเรือข้ามไปยังเกาะช้าง แต่อยากมานอนฟังเสียงคลื่นก็จะมาที่หาดบานชื่นแห่งนี้แทน

หลังอาหาร เราได้ชวนกันเดินไปที่ชายทะเล พบว่า คลื่นลมยังทำงานหนักอยู่เหมือนเดิม แต่สิ่งที่ได้เห็นก็คือชายหาดมีเม็ดทรายละเอียดสีขาวปูขนานไปกับต้นไม้สีเขียวที่ทอดยาวสุดสายตา

ชายทะเลแห่งนี้จึงเหมาะสำหรับมาเดินออกกำลังกายามเช้ายิ่งนัก เพราะนอกจากได้เดินเป็นระยะทางไกลตามต้องการแล้ว ยังได้อากาศบริสุทธิ์ด้วย มองไปทางทะเลก็เป็นทิวทัศน์น้ำกับฟ้าที่สวยงาม

เพื่อนคนหนึ่งที่เดินมาสำรวจชายทะเลพร้อมกับผมยืนยันว่า

“หาดบานชื่นสวยไม่แพ้หาดบนเกาะช้าง ตามที่ได้ขึ้นป้ายไว้จริง”

ทว่า ในความรู้สึกของผมนั้น ผมกลับเห็นว่า ส่วนที่ดีของหาดบานชื่นก็คือ เป็นหาดที่สงบ สวยแบบเรียบๆ เพราะมีนักท่องเที่ยวน้อย จึงทำให้ได้ยินเสียงของธรรมชาติชัดเจน

มาตราดครั้งนี้ นอกจากอิ่มกาย อิ่มใจแล้ว สำหรับคนที่ชอบทะเล แต่อยากเห็นอะไรใหม่ๆ ชุมชนต่างๆ ในตราด ก็เป็นอีกหมุดหมายหนึ่งที่นักท่องเที่ยวคนรุ่นใหม่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง 

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานตราด โทร.0-3959-7259-60