ใต้เงาปีกบอบบาง…บางน้ำผึ้ง สมุทรปราการ สวรรค์ของคนรักธรรมชาติใกล้กรุง

เรื่อง:  วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ภาพ: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง และ ททท.ภูมิภาคภาคตะวันออก

นกที่บินผ่านย่านนั้นคงอัศจรรย์ใจ  ที่ได้เห็นดงไม้สีเขียวครึ้มแทรกอยู่กลางการโอบล้อมของทิวตึกสูงเสียดฟ้า และอาณาจักรโรงงานอุตสาหกรรมกว้างไกล  เหมือนเป็นพื้นที่ไข่แดงสีเขียว ซึ่งมีแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงก่อนออกปากอ่าว ไหลอ้อมโค้งเกือบรอบ เป็นรูปคล้ายกระเพาะหมู แต่บางคนเปรียบว่า เป็นปอดของเมืองหลวง

หากนกตัวนั้นบินต่ำลงโฉบยอดไม้ จะรู้ว่าคุ้งกระเพาะหมูบางกะเจ้ากว้างใหญ่พอให้นกอาศัยได้หลายฝูง ในเขตปกครองของ 6 ตำบล ในพื้นที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ  เนื้อที่ร่วม 12,000 ไร่ มีต้นไม้น้อยใหญ่ เรือกสวน ชุมชนอยู่ในนั้น  แต่ไม่มีตึกสูงและโรงงานเพราะกฎหมายผังเมืองหวงห้ามไว้

หลังการขุดคลองลัดโพธิ์ยาว 600 เมตร เป็นทางลัดให้สายน้ำแทนการไหลอ้อมโค้งไกลถึง 18 กิโลเมตร  กระเพาะหมูบางกะเจ้าก็ถูกล้อมด้วยสายน้ำโดยสมบูรณ์ ทางรถเข้าออกได้ทางสะพานถนนเพชรหึงษ์ ซึ่งเป็นทางหลักสายเดียวทอดยาวไปสุดขอบคุ้ง ซึ่งมีซอกซอยเล็กซอยน้อยแตกแขนงออกไปเป็นเส้นสายเหมือนเส้นใบของใบไม้  เส้นทางบางสายนำไปสู่จุดน่าสนใจที่ถือเป็นหลักหมายของบางกะเจ้าก็ว่าได้

แต่หากเปลี่ยนมุมมองแบบย้อนเวลา ในสายตานกเมื่อยุคหลายสิบปีก่อน เส้นสายของทางสัญจรโดยเรือจะกลับด้านสู่เส้นทางน้ำที่เชื่อมต่อถึงกันทั่วพื้นที่-ก่อนจะถูกแทนด้วยถนน จนทางน้ำลดความสำคัญลง แต่ยังคงหลงเหลือศูนย์กลางการพบปะของชุมชน ที่ขายสินค้า ซื้อหาข้าวของกินอยู่  ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในชื่อ ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง

——————–

ไม่มีสมญา “ตลาด 100 ปี” นำหน้า หรือห้อยท้าย แต่คนรู้จักดีจะรู้ว่าบางน้ำผึ้งเป็นตลาดน้ำลำดับต้นๆ เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมายาวนาน ก่อนการฟื้นฟูชูตลาดน้ำโบราณที่ต่างๆ ขึ้นมาส่งเสริมการท่องเที่ยวกันใหม่จนเกร่อไปทั่วในช่วงไม่กี่ปีมานี้

จนทุกวันนี้บางน้ำผึ้งยังคงเป็นตลาดน้ำเพื่อการท่องเที่ยวของชุมชนโดยไม่เขวไปตามกระแส เคยล่องเรือขายของกันมาอย่างไร ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นเช่นนั้น  ตลาดส่วนขยายที่ขายของทั่วไปจากนอกถิ่น จะถูกจัดไว้อีกด้านของคลอง

แต่สิ่งที่เป็นหน้าตาของตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ยังคงเป็นสินค้าพื้นบ้านของพ่อค้าแม่ค้าในชุมชน ที่มีทั้งผลไม้ท้องถิ่น ขนม ของกิน กับข้าวขึ้นชื่ออย่างปลาทูต้มเค็มก้างเปื่อย ของใช้จากทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างสบู่สมุนไพรฟักข้าว

งานหัตกรรมผลิตภัณฑ์จากต้นจาก ซึ่งเป็นไม้พื้นถิ่นที่มีอยู่หนาแน่นตามริมฝั่งน้ำ ยอดใช้มวนยาสูบ ใบห่อขนมจาก และสานเป็นชะลอมใส่ของที่ชาวบ้านเรียกว่า “กะโปง”

นอกจากนี้ยังมีพืชผักสวนครัวออกแกนิก ที่สามารถตามไปดูได้ถึงแปลงปลูก

——————–

สวนเกษตรอินทรีย์เนื้อที่ 3 ไร่ ของป้าประไพ สุวรรณทศ  อยู่ห่างฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไม่กี่ร้อยเมตร ก่อนนี้มักมีน้ำท่วมถึงทุกปี  กระทั่งทางการสร้างคันเขื่อนกันน้ำท่วมรอบคุ้งบางกะเจ้าเมื่อปี  2540 ที่ดินของครอบครัวป้าประไพจึงพอทำการเพาะปลูกได้ เธอจึงทำสวนเกษตรอินทรีย์บนที่ดินข้างบ้าน

“ได้ผลผลิตแค่ไหนเอาแค่นั้น  เราปลูกแบบธรรมชาติ จะไม่เอาสารเคมีเข้ามาในสวนอย่างเด็ดขาด เรียกว่า สวนภูมิคุ้มกัน คือคุ้มกันความอดอยาก ลดรายจ่ายได้เยอะ  โลกจะเป็นอย่างไรป้าไม่กลัว รัฐบาลจะล้มป้าก็อยู่ได้  ถ้าทุกคนทำเหมือนป้า จะไม่เป็นหนี้ใคร”

สวนเกษตรปลอดสารพิษของป้ามีพืชผักที่กินได้ขายได้มากถึง 21 รายการ ได้แก่ มะม่วง ละมุด มะนาว พริก ข้าวโพด มะระ หน่อไม้ มะเขือ หมาก มะอึก บวบ ถั่วฝักยาว ตะลิงปลิง ยอ สะเดา ฟักข้าว กล้วยน้ำว้า ตะไคร้ ผักบุ้ง มะกอก หน่อไม้  รายได้จากสวนปีละ 7 หมื่นกว่าบาท ในจำนวนนี้หน่อไม้ทำรายได้มากสุดถึง 23,000 กว่าบาท  รองลงมาเป็นข้าวโพด  พริก และมะเขืออย่างละ 7,000-8,000 บาท

เป็นที่ท่องเที่ยวดูงานและแบ่งปันประสบการณ์งานกสิกรรมให้แก่คนที่เข้ามาเรียนรู้ ทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ ปีละเป็น 10 คณะ ยังไม่นับรวมขาจรรายย่อย

——————–

นอกจากถนนตรอกซอกซอยที่รถเข้าถึงได้ บางกะเจ้ายังมีทางเดินเชื่อมถึงกันทั่วทั้งคุ้ง หากเดินเท้าหรือปั่นจักรยานตามทางซีเมนต์ โดยเฉพาะเส้นเลียบริมน้ำ จะได้พบเห็นแง่มุมงดงามอีกหลากหลาย ที่เรียกได้ว่าเป็น Unseen

วิถีของผู้คนที่ยังอยู่กับธรรมชาติ วัดวาโบราณที่ยังมีชีวิตชีวา ภาพเขียนฝาผนัง ศิลปหัตถกรรม เกษตรอินทรีย์

วิถีคนริมน้ำท่ามกลางป่าจาก บ้านผลิตธูปสมุนไพรไล่ยุง เรือนนวดแผนไทยด้วยลูกประคบธัญพืช ฯลฯ

บ้านธูปหอมสมุนไพร

ธัญพืชประคบพูลสุข

อาหารอร่อยๆ ในตลาดบางน้ำผึ้ง

ท้ายซอยเพชรหึงษ์ 20 เป็นดงต้นลำพูดูคล้ายป่ารกเรื้อไร้ค่า แต่คนท้องถิ่นรู้ว่าตรงนั้นเป็นที่อาศัยของหิ่งห้อย

ตั้งแต่ปี 2551 สุกิจ พลับจ่าง จึงประกาศตัวเป็น “ยามเฝ้าหิ่งห้อย”  และเปิดให้คนรู้ว่า บางกะเจ้ามี “หมู่บ้านหิ่งห้อย” ให้ใครๆ มาชื่นชมพราวแสงไฟจากฝูงแมลงตัวน้อยได้ยามค่ำคืน

ในพื้นที่ป่าไร่กว่าๆ ของที่ราชพัสดุ 41 ไร่เศษ เป็นดงลำพู ต้นใหญ่สุดขนาดราว 2 คนโอบ อายุอาจเป็นร้อยปี ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัล “รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี” ในฐานะต้นไม้ทรงค่า 1 ใน 63 ต้น ทั่วประเทศ ปี 2561

ป่าผืนนี้ดูรกเรื้อเพราะคนเฝ้าไม่ต้องการพัฒนาปรับเปลี่ยนจนเป็นการรบกวนบ้านของหิ่งห้อย เขาอยากปล่อยป่าลำพูไว้ตามระบบนิเวศเดิมให้มากที่สุด ไม่ต้องการแม้แต่จะกวาดใบไม้บนพื้น

ยามเฝ้าหิ่งห้อยเล่าด้วยว่า ไม่ใช่มีแค่ต้นลำพูแล้วหิ่งห้อยจะมาอยู่ สิ่งสำคัญน้ำต้องดีด้วย  เมื่อกลุ่มอนุรักษ์ลำพูบางกระสอบพัฒนาฟื้นฟูคุณภาพน้ำ ตอนนี้มีหิ่งห้อยเข้ามาอยู่มากถึง 5 ชนิด

“ฤดูฝนหิ่งห้อยจะเยอะที่สุด ตั้งแต่ราวหนึ่งทุ่มมันจะเริ่มกะพริบแสง พวกที่อยู่บนพื้นเป็นหนอนบนดินที่มีจุดเรืองแสง เรียกว่าเป็นดาวบนดินเลยละ”  สุกิจพูดถึงหิ่งห้อยข้างบ้าน ที่เขาบอกว่าเฝ้ามองทุกวันอย่าง “หลงรัก” มาเป็นสิบๆ ปี

เฝ้าดูจนรู้ว่าการกะพริบแสงนั้นเพื่อการจับคู่ผสมพันธุ์

“วิธีของมันมหัศจรรย์มาก ตัวผู้จะกะพริบแสง แล้วตัวเมียจะมองหาตัวผู้ที่ถูกใจ แล้วกะพริบแสงอ่อนๆ สวยๆ เป็นเรดาร์เฉพาะส่งไปบอกตัวผู้ตัวที่ตัวเองสนใจ ตัวผู้ที่ได้รับสัญญาณก็จะบินมาหา  ผสมพันธุ์เสร็จก็ดับแสง”

สุกิจนับจำนวนหิ่งห้อยทุกเดือน บันทึกการเพิ่มจำนวนของสมาชิก กระทั่งมีการจัดงานวันหิ่งห้อยโลกครั้งแรก ที่ตลาดน้ำบางน้ำผึ้งเมื่อต้นปี

“ผมรักหิ่งห้อย ความใฝ่ฝันอันสูงสุดของผม ที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมอนุรักษ์ลำพูบางกระสอบ อยากให้บางกะเจ้าเป็นเกาะหิ่งห้อย อยากเห็นคนที่นี่อยู่ร่วมกับความหลากหลายทางชีวภาพ  เพราะรู้ไหม-อากาศที่บางกะเจ้าหอบเอาออกซิเจนเข้ากรุงเทพฯ วันละ 6 ล้านตันเลยนะ”

ความในใจของชายผู้ปวารณาตนเป็นยามเฝ้าหิ่งห้อย

——————–

จากป่าลำพูดงกระสอบลึกเข้าไปทางก้นซอยอีกเล็กน้อย ติดริมฝั่งเจ้าพระยา เป็นทุ่งชายป่าที่ดูนกประจำถิ่นและนกอพยพในบางฤดู เพราะผืนป่าแถบนั้นได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟูให้อยู่ตามสภาพธรรมชาติ สรรพชีวิตในธรรมชาติจึงพากันเคลื่อนเข้ามาอาศัย ให้ผู้ฝักใฝ่ธรรมชาติได้ชื่นชม

และใครเล่าจะรู้ บางทีในขณะที่เราเฝ้าดูหมู่นก และฝูงแมลงเรืองแสงไฟในยามค่ำ  เพื่อนในธรรมชาติเหล่านั้นก็อาจเฝ้าดูเราอยู่เช่นกัน

เฝ้าดูความรัก ความใส่ใจ ความเคลื่อนไหว ความเป็นไปในคุ้งบางกะเจ้า  พื้นที่ไข่แดงสีเขียวสดใสกลางป่าคอนกรีตสีหม่น

สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานฉะเชิงเทรา โทร.0 3851 4009