9 ที่เที่ยวโครงการพระราชดำริ ภาคตะวันออก ตามรอยพระบาทในหลวงรัชกาลที่ 9

คนไทยนับว่าโชคดีที่สุดในโลก เพราะเรามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนัก และทุ่มเทพระวรกาย เพื่อให้ประชาชนของพระองค์ มีอาชีพที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

ตลอด 70 ปี ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ต่างทุ่มเททรงงานหนัก เพื่อให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายนับพันโครงการ จึงเกิดขึ้นในทุกพื้นที่บนผืนแผ่นดินไทย

โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ของภาคตะวันออก มีโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 หลายแห่ง ซึ่งแต่ละสถานที่นั้น ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนนั้นดีขึ้น และกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ให้ผู้ที่สนใจเข้าไปหาความรู้ และพักผ่อนหย่อนใจได้

เรามาเที่ยวตามรอยพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในภาคตะวันออกกันครับ

1. โครงการโรงเรียนกาสรกสิวิทย์

โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ เป็นโรงเรียนสำหรับฝึกกระบือให้สามารถไถนา และทำงานด้านเกษตรกรรม และสอนเกษตรกรให้สามารถทำงานร่วมกับกระบือได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเป็นสถานที่มอบความรู้ในเชิงเกษตรและวิถีชีวิตพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9  ให้กับผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษา

เราสามารถมาเรียนรู้เรื่องการทำการเกษตรได้จากที่นี่ เช่น การฝึกไถนา คราด และตีลูกทุบ ซึ่งเป็นการเตรียมดินสำหรับปลูกข้าว โดยนักท่องเที่ยวจะได้ความรู้และแนวคิดพอเพียงกลับไปได้อย่างเต็มเปี่ยม

ที่ตั้ง : ต.ศาลาลำดวน อ.เมือง จ.สระแก้ว

โทรศัพท์: 0 3724 4657

2.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ศูนย์เรียนรู้ที่มีกิจกรรมที่น่าสนใจ หลายอย่าง ได้แก่ เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน ชมพันธุ์ปลา สถานที่แสดงพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ให้อาหารฉลาม และเรียนรู้การเลี้ยงสัตว์น้ำทางทะเลที่หน่วยสาธิตการเลี้ยงสัตว์น้ำภายในอ่าวคุ้งกระเบน

ที่ตั้ง : อ่าวคุ้งกระเบน ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี

โทรศัพท์ : 0 3943 3216

3.คลองภักดีรำไพ จันทบุรี

คลองภักดีรำไพ เป็นคลองขุดสายหนึ่งในอำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ใช้สำหรับแก้ปัญหาอุทกภัยในชุมชนริมแม่น้ำจันทบุรี ซึ่งเดิมต้องประสบปัญหาอุทกภัยอยู่แทบทุกปี

โดยคลองแห่งนี้ มีหน้าที่ระบายน้ำจากแม่น้ำดังกล่าวลงสู่อ่าวไทย และยังมีหน้าที่ในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งอีกด้วย และหลังจากที่การสร้างคลองภักดีรำไพเสร็จสมบูรณ์ ตัวเมืองจันทบุรีก็ไม่ประสบปัญหาอุทกภัยอีก นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งต่อประชาชนชาวจังหวัดจันทบุรี

ที่ตั้ง : คลองภักดีรำไพ อ.เมือง จ.จันทบุรี

4.โครงการศูนย์พัฒนาไม้ผล ตามพระราชดำริ จ.จันทบุรี

ศูนย์เรียนรู้หลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวตามรอยพระราชดำริ ที่เหมาะสำหรับการเรียนรู้และได้ท่องเที่ยวไปในคราวเดียวกัน และยังเปิดให้เกษตรกรเข้ามาศึกษาและพัฒนาผลผลิตไม้ผล ในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อโลก คือเกษตรอินทรีย์นั่นเอง

โดยในพื้นที่แบ่งเป็นสวนไม้ผล พื้นที่ว่างเปล่า และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กไว้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งภายในศูนย์เรียนรู้มีพื้นที่ทำการทดลองพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร ที่เน้นการลดต้นทุนในการเพาะปลูก อีกทั้งเรียนรู้ในเรื่องการใช้ปุ๋ยที่ไม่ส่งผลเสียต่อธรรมชาติ เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้บริโภคผักและผลไม้ รวมถึงแนะนำการใช้ดินที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกอีกด้วย

ที่ตั้ง:  ม.8 บ้านทุ่งโตนด ต.ท่าหลวง อ.มะขาม จ.จันทบุรี

เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา :  08.30-16.30 น.

โทรศัพท์ :  0-3937-3136

5. เขื่อนขุนด่านปราการชล

เขื่อนขุนด่านปราการชลนี้ มีไว้เก็บกักน้ำในช่วงหน้าฝนไว้ในหน้าแล้ง และควบคุมไม่ให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือน ไร่นาและพื้นที่การเกษตรในหน้าฝน  ซึ่งสร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกทั้งเขื่อนขุนด่านปราการชลนี้เป็นเขื่อนคอนกรีตอัดบดยาวที่สุดในประเทศไทย และยาวที่สุดในโลกอีกด้วย

โดยบริเวณเขื่อนขุนด่าน ปราการชล มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ทำหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมแอดเวนเจอร์ หรือใครที่ชอบชิลล์ๆ อยากจะนั่งชมวิวสวยที่สันเขื่อน ซึ่งสวยไม่แพ้ที่อื่นก็ได้เหมือนกัน

ที่ตั้ง : ต.นาหินลาด อ.ปากพลี จ.นครนายก

โทรศัพท์ : 08 9634 9287

6.โครงการห้วยโสมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับเป็นธารน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่สู่ชาวปราจีนบุรี โครงการห้วยโสมงฯ เป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ให้กับราษฎรใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ทำการเกษตรกรรมและมีน้ำเพียงพอมาใช้ในการทำการประปาเพิ่มขึ้น นับเป็นโครงการในพระราชดำริแห่งสุดท้ายในรัชกาลของพระองค์

ที่ตั้ง : ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี

7.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ฉะเชิงเทรา

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จัดตั้งขึ้นเนื่องมาจากพระราชดำริ คือ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมการศึกษา ทดลอง วิจัย และการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ทางการเกษตร เพื่อพลิกฟื้นสภาพแวดล้อมของเขาหินซ้อนให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม ด้วยการนำวิถีทางแห่งธรรมชาติมาใช้พลิกฟื้นผืนแผ่นดิน

โดยที่นี่ใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก รวมถึงการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน มีการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร มีการจัดทำสวนกล้วยไม้ สวนพรรณไม้หอม และจัดทำแปลงสาธิตการเกษตรในรูปแบบต่าง ๆ ตามแนวทฤษฎีใหม่ เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ และเป็นต้นแบบของการพัฒนาให้แก่พื้นที่อื่นๆ อีกด้วย

นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมศูนย์ฯ จะได้ศึกษาดูงานทางด้านการเกษตรที่น่าสนใจหลายแง่มุม ได้แก่ การพัฒนาที่ดิน การปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ งานศิลปาชีพ และโครงการสวนป่าสมุนไพร ผ่านแปลงทดลองปลูกพืชนานาชนิด เช่น หวาย อโวคาโด และมะม่วงทุกสายพันธุ์ที่มีในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยได้จัดตั้งเป็น “สวนพฤกษศาสตร์ภาคตะวันออก” เพื่อดูแลงานวิจัยคุณประโยชน์ของพืชสมุนไพรต่างๆ

ที่ตั้ง : ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

วันเปิดทำการ : วันเสาร์ – วันอาทิตย์ เวลาเปิดทำการ : 08.00 – 16.00

โทรศัพท์  0 2276 2720-1

8.โครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงมีพระราชดำริ ให้จัดตั้งโครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดง ตามพระราชดำริ จ.ระยอง-ชลบุรี เพื่อเป็นศูนย์กลางอาชีพการเกษตรและศิลปาชีพพิเศษแก่ ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม บริเวณริมอ่างเก็บน้ำดอกกราย เพื่อพัฒนาด้านการเกษตร ด้านปศุสัตว์ และการประมงเพื่อการบริโภค จากเดิม ที่พื้นที่บริเวณนี้เคยแห้งแล้งและประสบปัญหาดินเปรี้ยว ไม่เหมาะกับการทำการเกษตร

ปัจจุบันศูนย์ฯ แห่งนี้ใช้เป็นสถานฝึกอบรม ที่เพียบพร้อมไปด้วยอาคารและแปลงเกษตรสาธิต สำหรับศึกษา ดูงานได้เป็นอย่างดี

ที่ตั้ง : ม. 3 ต.แม่น้ำคู้ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง

โทรศัพท์ : 0 3802 7915

9.โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน มวลน้ำมหาศาลไปกระจุกตัวตรงอ่าวไทยในจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อรอการระบายน้ำลงสู่ทะเล ซึ่งกว่าปริมาณลดลงต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยทีเดียว

ทำให้บริเวณดังกล่าวจึงเกิดน้ำท่วมหนัก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการขุดขยายคลองลัดโพธิ์ ที่มีอายุมากกว่า 300 ปีให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และจัดสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อคลี่คลายปัญหาทั้งในระยะเร่งด่วน และระยะยาว

โดยประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ช่วยลัดน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเลได้เร็วกว่าเดิมถึง 30 เท่า ด้วยหลักการ “การเบี่ยงน้ำ” จากเดิมต้องไหลอ้อมแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 18 กิโลเมตร ปัจจุบันเหลือระยะทางเพียง 600 เมตร ส่วนระยะเวลาในการระบายน้ำก็เปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน จากที่เคยใช้เวลามากถึง 5 ชั่วโมง ก็ลดเหลือเพียง 10 นาทีเท่านั้น

โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จึงช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในอำเภอพระประแดง เร่งระบายน้ำเหนือที่ไหลผ่านในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการป้องกันน้ำทะลักเข้าสู่พื้นที่รอบกระเพาะหมูอีกด้วย

ที่ตั้ง : คลองลัดโพธิ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ